ขลุ่ย ปี่ ปี่ชวา ปี่มอญ เครื่องดนตรีไทย ประเภท เครื่องเป่า

เครื่องเป่า

เครื่องเป่า ที่มนุษย์รู้จัก ใช้แต่เดิม ก็คงเป็น หลอดไม้รวก ไม้ไผ่ ใช้เป่า เป็น สัญญาณ ในการ ล่าสัตว์ ภายหลังรู้จักเจาะรู และทำให้สั้น สามารถ เปลี่ยนเสียงได้ จึง นำ เอามา เล่น เป็น ทำนอง ใช้เป็น เครื่องดนตรี อีก ประเภทหนึ่ง

เครื่องเป่าของไทยคือ ขลุ่ย และ ปี่

ขลุ่ย เป็นเครื่องเป่าดั้งเดิมของไทย เหตุที่เรียกว่า “ขลุ่ย” เข้าใจว่าเรียกตามเสียงเป่าที่ได้ยิน ขลุ่ยแต่เดิมทำด้วยไม้รวกปล้องยาว ๆ ไว้ข้อทางปลาย แต่เจาะรูทะลุข้อ และใช้ไฟย่างให้แห้ง ตบแต่งผิวให้ไหม้เกรียมเป็นลวดลายสวยงาม ต่อมาทำด้วยไม้จริงบ้าง งาบ้าง ขลุ่ยเลาหนึ่งมีรูสำหรับนิ้วปิดเพื่อเปลี่ยนเสียง 7 รู แต่เดิมขลุ่ยชนิดเดียว ต่อมาเมื่อนำมาเล่นผสมวงดนตรี จึงมีผู้ทำเป็น 3 ขนาด คือ ขนาดเล็ก เรียกขลุ่ยหลิบเสียงเล็กแหลมสูง ขนาดกลางเรียก ขลุ่ยเพียงออ เสียงระดับกลาง และขนาดใหญ่ เรียกขลุ่ยอู้ เสียงต่ำ ในปัจจุบันนิยมใช้ขลุ่ยเพียงออกันโดยมาก

ปี่ ของไทยมีวิธีเป่า และลักษณะการเจาะรูไม่เหมือนกับปี่ของชาติใด ปกติทำด้วยไม้จริง เช่น ไม้ชิงชัน ไม้พยุง กลึงให้เป็นรูปบานหัวบานท้าย ตรงกลางป่องเจาะภายในกลวงตลอดเลา ทางหัวเป็นช่องรูเล็กสำหรับใส่ลิ้น ทางปลายรูใหญ่ ตรงกลางป่องเจาะรู 6 รู สำหรับใช้นิ้วปิดเปิดเปลี่ยนเสียง ลิ้นปี่ทำด้วยใบตาลซ้อน 4 ชั้น ตัดกลมผูกติดกับท่อลมเล็ก ๆ ซึ่งเรียกว่า “กำพวด” กำพวดนี้ทำด้วยทองเหลือง เงิน หรือ นาค

ปี่ไทย มี 3 ขนาด คือ

  • ปี่นอก เป็นปี่ขนาดเล็ก เสียงเล็กแหลมสูง
  • ปี่กลาง เป็นปี่ขนาดกลาง เสียงระดับกลาง
  • ปี่ใน มีขนาดใหญ่ เสียงต่ำกว่า

ในการบรรเลงวงปี่พาทย์ในปัจจุบัน ปี่นอกกับปี่กลาง ไม่ค่อยได้ใช้ คงใช้แต่ ปี่ใน กันเป็นพื้น เครื่องเป่า จำพวกปี่ นอกจากปี่ของไทยแท้ ๆ แล้ว ในวงดนตรีไทย ยังมีปี่ของต่างชาติเข้ามาบรรเลงผสมด้วย คือ

ปี่ชวา เดิมเป็นของชวา (แขก) เป็นปี่ที่มีส่วนประกอบ 2 ส่วน คือ “เลาปี่” ทำด้วยไม้และ “ลำโพงปี่” ทำด้วยไม้หรืองาก็มี ปี่ชวามีเสียงแหลม ดัง ใช้เป่าคู่กับกลองแขก ประกอบการเล่นกระบี่กระบอง การชกมวยไทย ใช้บรรเลงร่วมในวงปี่พาทย์นางหงส์ และวงเครื่องสายปี่ชวา

ปี่มอญ เดิมเป็นปี่ของมอญ เป็นปี่ที่มีส่วนประกอบ 2 ส่วน เช่นเดียวกับปี่ชวา แต่มีขนาดใหญ่และยาวกว่า ส่วนที่เป็น “เลาปี่” ทำด้วยไม้ และส่วนที่เป็น “ลำโพงปี่” ทำด้วยทองเหลือง ทั้งสองส่วนนี้สอดสวมกันหลวม ๆ จึงต้องมีเชือกผูกโยงเพื่อไม่ให้หลุดจากกัน ปี่มอญ เสียงโหยหวนชวนเศร้า ใช้บรรเลงในวงปี่พาทย์มอญ และบรรเลงเพลงประกอบการแสดงฟ้อนของภาคเหนือ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *